วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระสมเด็จ : ชุด ตามล่าหาพระสมเด็จ

     ด้วยแนวคิด “ล่าฝัน” และ “เติมฝัน” วันใหม่ของวงการพระเครื่อง ของใครต่อใครหลายคน อรรถสาระของภูมิปัญญาชัดเจนและเข้าใจได้ จึงขอร่วมเส้นทางด้วยพร้อมกับเสนอสมมติฐานทางการคิดใหม่ เพื่อให้เกิดการวิพากษ์เชิงบวก โดยขอเสนอ “โจทย์ใหม่เพื่อช่วยกันคิด” ซึ่งจะทำให้มองพระสมเด็จอย่างเป็นองค์รวมได้ชัดเจนมากขึ้น
                บทวิเคราะห์ต่อไปนี้ตั้งบนพื้นฐานเพื่อเปิดประเด็นมุมมอง “พระสมเด็จ” ให้กว้างขึ้น เป็นการขยาย “ทัศนะ”และเพิ่มประเด็นการรับรู้ การเข้าใจ “วัตถุธาตุ”เพื่อให้พระเครื่ององค์นี้อยู่ด้วยการ “อนุรักษ์” เชิงยั่งยืนต่อไป
                เชื่อว่าทุกคนที่กระหายยากได้ “พระสมเด็จ” ตามคำกล่าวขานล่ำรือ คงมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้างแล้วแต่ตาม “พื้นฐาน” ของแต่ละคน ดังนั้น เพื่อให้อ่านง่าย สะดวก คิดเอาแต่เนื้อมาเสนอ จึงขอรวมรวมเป็นลักษณะประเด็นเนื้องานดังนี้
๑.       ขนาดพระสมเด็จ
จากการสืบค้น พบว่าพระสมเด็จมีการทำกันต่อเนื่องเกือบ ๒๐ ปีมีลักษณะเป็น “งานมือ”และเป็น “งานบ้าน” รูปแบบ แบบพิมพ์ วัสดุสร้าง พัฒนาแปรเปลี่ยนแต่อยู่ใน “แนวคิด” “หลักคิด” และ “ลายมือศิลป์”เหมือนเดิม ดังนั้นจากลักษณะ “ชิ้นงาน”นี้จึงส่งผลต่อรูปลักษณ์และขนาดซึ่งประมวลได้ดังนี้
ขนาดมี “ขนาดเดียว” แต่ใหญ่และย่อมได้หลายขนาด เอาเป็นว่าขนาดโดยรวม คือขนาดตาม “พระเก๊” ที่ “แบกะดิน” อยู่ทั่วไป แต่ในความเป็นจริงนั้น มีขนาดเล็กย่อมกว่านิดหน่อยก็มี ขนาดเขื่องกว่านิดหน่อยก็มี แต่ไม่ถึงขนาดกล่องไม้ขีดไฟ หรือฝ่ามือ ซึ่งไม่มีเล็กย่อมขนาดเท่า “ปากน้ำ” หรือ “ปิลันธน์” และไม่อยากจะเรียกว่า ใหญ่ กลาง เล็ก  เพราะกลัวจะเข้าใจผิด เป็นขนาดพิมพ์โง่กันต่อไป เอาเป็นว่า “ขนาดพิมพ์พระ” ยืดหยุ่นกันนิดหน่อยประมาณ ๒-๓ มิลลิเมตร
๒.     ความหนาและบาง
ขอเอาเกณฑ์พระเก๊ที่ขายอยู่ดาษดื่น ของแท้มักจะบางกว่าเล็กน้อย แต่บางครั้งมีหนากว่าปกติก็มีแต่น้อยมาก ๆ โดยภาพรวม พระสมเด็จมักจะบางพอรู้สึกมือว่าบางกว่าพระเก๊(ที่เอาพระเก๊มาเปรียบเทียบเพราะลักษณะองค์ประกอบมักใกล้เคียงกันทุกความเก๊และเห็นเก๊จนเคยชินจึงเอามาเปรียบเทียบอนุมานให้เห็น)แต่ระวังไม่ใช่บางแบบข้างเกรียบหรือกระดาษลัง
๓.      การคงรูป
การคงรูปขององค์พระซึ่งเป็นชิ้นงานในกรอบสี่เหลี่ยมมีประเด็นที่ต้องจำคือไม่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสชัดเจน ความพลิ้ว บาง-หนา ไม่เสมอกัน มีความแอ่น ความโค้ง พลิ้ว บิดเบี้ยว จับดูพอรู้สึกมือ
๔.      พื้นผิวองค์พระทั้งหน้าหลังขอบข้างจะต้องมีความกร่อน(ตามอายุ)
ยืนยันได้ว่า ๙๙ เปอร์เซนต์ มักจะเป็นอย่างนี้ หากไม่เป็นอย่างนี้พึงระวังสูงสุด เพราะชิ้นงานร้อยกว่าปี ต้องสึกหรอไปตามกาลเวลา ประเภทความชัดเส้นสายตึงคมเปรี๊ยะ ระวัง ไม่ใช่เก่าเก็บ ก็เก๊ระเบิด(เก่าเก็บอย่าลืมว่าเหลือไม่ถึง ๑ เปอร์เซนต์) เพราะนักสะสมมักจะชินอยู่กับภาพพระในหนังสือที่วนเวียนให้เห็นกันอยู่ ฉะนั้นพื้นผิวมักจะไม่เรียบตึง มีร่องรอยการย่อยสลายตามกาลเวลา(สังเกตให้ดีมีร่องรอยให้เห็น)
๕.     เนื้อพระหรือลักษณะคุณสมบัติองค์ประกอบ หลักของเนื้อวัสดุ และลักษณะวัสดุองค์รวมของเนื้อพระ ขอเสนอเป็นประเด็นให้เข้าใจง่ายดังนี้
เนื้อมันลื่น สีออกไปทางเหลืองใบชา น่าจะมีส่วนผสมวัสดุอินทรีย์ยึดแน่น คือน้ำมันตังอิ้ว ลักษณะเด่นที่สังเกตได้คือ เนื้อพระชนิดนี้จะแน่น  น้ำจะไม่ซึมเข้า ไม่มีรอยยุบแต่มักบาง และแอนพอรู้มือ เส้นสายคมชัด เนื้อหาละเอียดแม้ลงรัก แต่มักไม่ปรากฏรอยรานบนผิวพระ ขอบพระมน ด้านหลังมักเรียบตึง หลายเซียนมักมองข้ามหากพิสูจน์ด้วยทฤษฎี(เดิมๆ)
เนื้อออกสีขาวอมเหลืองหม่น ไม่แน่น มีลักษณะเป็นปูนธรรมดา ดูเก่าได้ง่าย ความหนาขนาดพระเก๊ทั่วไป รอยหลุด ราน ยุบ เว้า แหว่ง มีเต็มไปหมด ตามทฤษฎีที่เป็นจริงของมหาเซียน(ตามกฏของการซื้อขาย) เนื้อพระคงจะแก่ปูน ข้อสังเกตคือซับน้ำง่ายสามารถดูดซับเหงื่อไคลคราบสกปรก จึงทำให้เกิดความหนึก นุ่ม และเก่า  เนื้อพระและคุณลักษณะทำนองนี้ขายง่าย ขายดี เพราะความเชื่อถูกปลูกถ่ายไว้ลึกในสังคม และค่อนข้างเป็นความเชื่อถาวรจนไปเบียดบัง และทำลายพระสมเด็จดีๆ ที่มีคุณลักษระอย่างอื่น เนื้อพระชนิดนี้สีค่อนข้างหม่น แล้วแต่น้ำสกปรกมากน้อยเข้าไปซึมซับ ลักษณะเด่นที่ทดสอบได้คือ นำพระเนื้อนี้แช่น้ำชา เนื้อพระจะเข้ม(ทำราคา)ได้ทันที สามารถเห็นคราบเก่าคราบสกปรกได้ชัดจน(อย่าทำดีกว่า) บางคนเรียกว่า “เนื้อนิยม”(คือนิยมขายแพง)
พระชนิดเนื้อแกร่ง บางคนเรียกเนื้อกังไส เนื้อลักษณะนี้หลายคนมองข้าม เพราะมีลักษณะขาว แกร่ง มีน้ำหนักมาก แสดงถึงการนวดเนื้อ ความแน่นอนของส่วนผสมจึงทำให้เกิดการยึดตัวมากจึงแน่น มั่นคง ฉะนั้นรอยยุบ ย้วยเหนอะ ปูไต่(ไรตอม) รอยครูดกระดานจึงไม่ค่อยมี แต่แกร่งเก่าชัด บางองค์มีความหนา ยิ่งมำให้เพี้ยน ยิ่งบางองค์ลงรัก แต่ไม่มีรอยราน ตีเก๊กันไปเลย  พระแนวนี้หลุดรอดตาเซียน(เสี้ยน)จึงเป็นโอกาสดีสำหรับ “นักล่า” ด้วยวิธีการแห่งปัญญาทำให้ “ฝัน” เป็นรูปธรรม มีมหามงคลมาสักการะด้วยความภูมิใจในปัญญาแห่งตน
๖.       มวลสารส่วนผสม อินทรีย์วัสดุ
การแปรเปลี่ยน การย่อยสลาย ของคำที่ว่า “มวลสาร”  ในองค์พระต่อไปนี้เป็นข้อนำเสนอ เป็นสมมุติฐานใหม่ว่าวัสดุหลักของเนื้อพระน่าจะเป็นปูนแคลเซียมของฟอสซิลเปลือกหอยทะเล ซึ่งพบได้ทั่วไปตามแถบธนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี เช่นสุสานหอยต่าง ๆ นำมาตำละเอียดแล้วร่อนเอากากดำและส่วนที่ไปร่อนเอาตัวออก นำมาตำในครกไม้ ครกหิน ครกดินเผา เพราะมีสะเก็ดหินเทา สะเก็ดดินเผาเล็ก ๆ และเศษเนื้อไม้ (คนโบราณยังไม่บ้าพระเครื่องคงไม่ผูกพันอยู่กับของวิเศษเมืองกำแพงและคงไม่อุตริเอาพระพิมพ์มาตำเล่น)คาดว่าความเชื่อที่ว่าส่วนผสมของพระ(เชื่อกูแล้วมึงจน) คงไม่นำเอามาตำเล่นแน่นอน
ส่วนการนวดเนื้อพระคงเป็นการ “นวดแห้ง” เหยาะน้ำ นวดเนื้อ เหยาะน้ำมันตังอิ้วเพื่อผนวกให้เหนียว ตำในครกก่อนแล้วมานวดมือ ปั้น กดพิมพ์แล้วตัดแต่ง ผึงลม แป้งปูนเมื่อถูกน้ำและนวดก็จับตัวกันแน่นการตามแปรเปลี่ยนของธรรมชาติอยู่แล้ว จุดเขียว จุดเงิน จุดทอง(จุดอภินิหาร) ต่างๆ ก็สาธยายกันไปตามการเสริมแต่งอิทธิฤทธิ์(ไม่ว่ากันอยู่แล้ว)เมื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้ก็สัมพันธ์กับทุกข้อที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น จากประเด็นเนื้อพระในลักษณะนวดแห้งและตำป่น จึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ดังนี้
เนื้อพระที่ตำปูนจนแหลก ผสมน้ำมันตังอิ้วได้สัดส่วน เนื้อพระจะเป็นสีเหลืองชา เนื้อหาที่เป็นผงเกาะจากนวดเปียก ก็จะไม่เกาะตัวสนิท จึงปรากฏรอยยุบ ร่อน ของปูนสีขาวมากแห่ง ทำให้ได้รับความนิยม
เนื้อแก่น้ำนวด ตำปูนเข้ากัน ปั้นมือมาก่อนกดพิมพ์ เนื้อมักแข็งดูขาวกระด้าง มีรอยเปียกบนผิว เมื่อกดพิมพ์แล้วชอบเรียกว่า “เหนอะ”
                เนื้อตำละเอียด หยอดน้ำมันตังอิ้วทีละน้อยตลอดเวลา และนวดจนแน่น จะมีสีเหลือเข้มเพราะมีน้ำมันตังอิ้วเยอะ  เนื้อพระจึงแน่นผิวมัน พิมพ์หน้าชัด แต่มักจะบางและแน่นหนัก  มักมีก้อนฟอสซิลเล็กๆ ที่ไม่เข้าน้ำมันแต่ฝังแน่นกับเนื้อหลักของพระที่อิ่มน้ำมัน พระจะสวย คม และไม่หนา แต่เซียนมักจะมองข้ามพระชุดนี้ ประเภทนี้คุณลักษณะอย่างนี้มีอีกมาก และสวยงามจริง ๆ
                จากแนวคิดใหม่ สมมุติฐานใหม่ คงจะทำให้หลายคนหมั่นไส้และจิตแกว่งเสนอมาเพื่อไตร่ตรองประกอบพิจารณา อย่างน้อยที่สุดทำให้จิตนาการ “จินตภาพใหม่เกิดขึ้น เพื่อเสริมห้วง เสริมฝันให้มีพลังมากขึ้น” ค่อย ๆ คิด ค่อยพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ กายภาค บูรณาการเป็นข้อเท็จจริง เพราะเมื่อถึงเวลาการตัดสินใจในช่วงเวลาสั้น ๆ เรายังมีฐานของความคิดที่เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ดีกว่าฟังเขาเล่ากันมาครับ...